วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (immune system)

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายถูกรุกรานจากสิ่งแปลกปลอมภายนอก ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในบรรยากาศและตามพื้นผิวของ  ทุกระบบในร่างกายของมนุษย์ทุกคนล้วนมีความผิดปกติทั้งสิ้น ยิ่งระบบภูมิคุ้มเป็นระบบที่เราควรดูแลรักษาอย่างยิ่ง เพราะมีความสำคัญต่อร่างกาย
กลไกในการเกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันได้ 3 แบบดังนี้
1.การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง (Immune deficiency) ซึ่งอาจเป็นมาแต่กำเนิด หรืออาจเกิดขึ้นในระยะหลังจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคเอดส์
2.ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานมากเกินไป หรือ ภูมิไวเกิน (hypersensitivity reaction) การมีระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไปทำให้มีการตอบสนองที่รุนแรงมากผิดปกติกับสารบางอย่าง เช่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์  ทำให้เกิดอาการในกลุ่มของโรคภูมิแพ้ (allergic disease)
3.ระบบภูมิคุ้มกันทำงานสับสน ไม่สามารถแยกแยะแอนติเจนร่างกายออกจากแอนติเจนแปลกปลอม คือเซลล์ในร่างกายจู่โจมเข้าและทำร้ายเนื้อเยื่อร่างกายทำให้เกิดเป็นโรคออโต้อิมมูน (autoimmune) ขึ้นมา ตัวอย่างโรคนี้ เช่น โรคปากเปื่อยร้อนใน
                เมื่อเราทราบถึงความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันแล้วเราก็ควรดูแลรักษาโดยต้องรู้ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันเสียก่อน
                1.ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น โรคบางอย่างอาจเป็นในกลุ่มชนเชื้อชาติหนึ่งมากกว่าอีกเชื้อชาติหนึ่ง
                2.อายุ คือ เด็กเล็ก และผู้สูงอายุมีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันด้อยกว่าคนหนุ่มสาว จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
                3.ปัจจัยทางเมแทโบลิก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ที่ได้รับสารสเตียรอยด์นานๆ จะเกิดโรคบางชนิดง่ายกว่าคนทั่วไป เช่น โรคสุกใส
                4.ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ดูในเรื่องของความเป็นอยู่ คือ กลุ่มคนที่มีฐานะยากจนจะมีอัตราการเกิดโรคต่างๆ  สูงกว่า กลุ่มคนที่มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า
                5.ลักษณะทางกายวิภาค  เช่น การมีบาดแผล ซึ่งอาจทำให้เกดการติดเชื้อได้ง่าย
                6.ปัจจัยเกี่ยวกับเชื้อจุลชีพ เช่น การได้รับยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง เชื้อจุลชีพจะก่อโรคจะทวีจำนวนขึ้นก่อให้เกิดโรคได้
                7.ลักษณะทางสรีระ  ความผิดปกติต่างๆ ในร่างกายหากเกิดขึ้นแล้วเชื้อจุลชีพต่างๆ จะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
วิธีป้องกันดูแลรักษาสุขภาพ
ด้านการออกกำลังกาย  การออกกำลังกายมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันคือ จากการสังเกตแล้วคนที่ออกกำลังกายอย่างหนักจนร่างกายอ่อนล้า ทำให้การติดเชื้อในระบบหายใจส่วนบนเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าออกกำลังกายหนักปานกลางการติดเชื้อจะลดลง แสดงว่า การออกกำลังกายมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
ด้านอาหารและโภชนาการ ควรรักษาน้ำหนักตัว ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ งดการทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เพิ่มการกินอาหารที่มีเส้นใยช่วยในการขับถ่าย และทำลายพิษ ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว  สารอาหารที่สำคัญที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันเช่น วิตามินเอ ช่วยผลิตเม็ดเลือดขาว สร้างเซลล์บุเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะและระบบย่อย   ซึ่งเซลล์เหล่านี้เป็นด่านแรกในการป้องกันการติดเชื้อ วิตามินซี เพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดขาว มีงานวิจัยหลายรายงานที่พบว่า วิตามินซีอาจช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของการเป็นหวัด แม้ไม่สามารถป้องกันหวัดได้แน่นอน แต่ก็ลดระดับสารอนุมูลอิสระและสารฮิสตามีน (histamine) ซึ่งทำให้เกิดอาการคัดแน่นจมูกได้ วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันระบบภูมิคุ้มกันจากอนุมูลอิสระ และอาจช่วยสร้างเม็ดเลือดขาวในการป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบสำคัญของเอ็นไซม์มากมายในร่างกาย ช่วยในการฆ่าเชื้อ หากขาดธาตุเหล็กจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย ซีลีเนียม ช่วยสร้างแอนตี้บอดีและเอ็นไซม์ซึ่งป้องกันระบบภูมิคุ้มกัน   แต่ถ้าเสริมมากเกินไป (4 เท่าของระดับที่แนะนำ ) จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสียได้ สังกะสี จำเป็นต่อการทำงานที่ละเอียดอ่อนของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต่อต้านเชื้อไวรัส เชื้อรา พยาธิและเชื้อโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ วิตามินและแร่ธาตุรวม มีงานวิจัยรายงานว่าการเสริมเพียงวันละเม็ดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการผ่าตัด จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และลดการเจ็บป่วย 17 วัน / ปี   คำเตือนคือ ควรเสริมในระดับ 100% ของความต้องการประจำวัน
ในด้านของอารมณ์ ถ้าเราอารมณ์ดีหรือมีความสุขแล้วร่างกายจะกระตุ้นให้  IgA เพิ่มขึ้น ดังนั้นคนที่อารมณ์ดี และมีความสุข จึงมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี จึงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
เกร็ดความรู้ : โปรไบโอติก (Probiotic) จะช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคโดยกลไกหลั่งสารหลายชนิดออกมาต่อต้าน ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็น อันตรายเหล่านั้น โปรไบโอติก ที่เจริญเติบโตจะไปแย่งที่กันมิให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ และมิให้เกาะติดผนังลำไส้ทำอันตรายผนังลำไส้ และถูกขับออกทางอุจจาระ   โปรไบโอติก มีประสิทธิภาพ ในการป้องกันและลดอาการของโรคติดเชื้อในทางเดินอาหารได้ และมีบทบาทสำคัญ ในการรักษาภาวะภูมิแพ้ เสริมสร้างการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันตลอดจนการรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆอีกหลายโรค